Monday, February 29, 2016

มหัศจรรย์แห่งการไหว้


ซีรี่ส์ “เรื่องดี ๆ จากดร.ณัชร” เรื่องที่ 95

สัปดาห์ที่แล้วก่อนเดินทางไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ที่น่าประทับใจที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เนื่องจากเวลาที่ไฟล์ทจะถึงเชียงใหม่นั้นใกล้เคียงกับเวลาเริ่มการอบรมมาก  ผู้เขียนจึงตัดสินใจใส่ชุดขาวสำหรับปฏิบัติธรรมไปจากบ้านเสียเลยเพื่อประหยัดเวลาเปิดกระเป๋าเปลี่ยนชุดเมื่อไปถึงศูนย์วิปัสสนา

เมื่อเดินเข้าไปเช็คอินกระเป๋า  ผู้เขียนก็ยกมือไหว้เจ้าหน้าที่กราวนด์ของการบินไทยพร้อมกับสบตาและยิ้มให้อย่างจริงใจ  เธอรีบรับไหว้พร้อมรอยยิ้มกว้าง  ดูออกจะแปลกใจเล็กน้อยที่ผู้โดยสารชิงไหว้เธอก่อน

เมื่อเห็นผู้เขียนใส่ชุดขาว  แถมยังโหลดเบาะนั่งสมาธิขึ้นเครื่องไปพร้อมกระเป๋าด้วย  เธอก็ถามอย่างเกรงใจว่า  “ขอถามหน่อยค่ะ  การแผ่เมตตานี้จำเป็นต้องทำตอนหลับตานั่งสมาธิหรือเปล่าคะ?”

ผู้เขียนยิ้มให้เธออีกครั้งแล้วบอกว่า  “ไม่จำเป็นหรอกค่ะ  จะแผ่ในอิริยาบถใดก็ได้  ลืมตาก็ได้  แต่แน่นอนว่าถ้ามีโอกาสนั่งสมาธิหรือทำบุญกุศลทำคุณงามความดีใด ๆ ก่อนการแผ่เมตตาก็จะยิ่งส่งผลดี  เพราะคุณสามารถอุทิศบุญกุศลให้ผู้นั้นได้อีกด้วย”

เธอตั้งใจฟังด้วยสีหน้าที่ผู้เขียนรู้สึกว่า เธอคงมีเรื่องกังวลใจอะไรสักอย่างแล้วอยากจะแผ่เมตตาให้กับใครสักคนอย่างมาก  ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าถามคนแปลกหน้าในชุดขาวคนหนึ่งเป็นแน่  ดังนั้นผู้เขียนจึงตัดสินใจว่าจะให้กำลังใจเธอ

“การทำกุศลนั้นไม่จำเป็นต้องทำทานด้วยเงินทองเสมอไปด้วยนะคะ  เพียงแค่การให้รอยยิ้ม ให้เวลา ให้คำแนะนำ หรือให้ความช่วยเหลือคนอย่างจริงใจนั้นก็นับเป็นการให้ เป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นกุศลในตัวอยู่แล้ว”

“จะว่าไปแล้วงานที่คุณทำนี้ก็เป็นการทำคุณงามความดีอย่างหนึ่งนะคะเพราะคุณได้ช่วยเหลือคนช่วยอำนวยความสะดวกให้คนอยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นคุณจึงสามารถทำงานไปแผ่เมตตาให้ผู้โดยสารไปด้วยก็ยังได้ค่ะ”

“เช่น  คุณอาจจะส่งความปรารถนาดีจากใจไปให้เขา พร้อมกับนึกในใจว่า  ขอให้ท่านผู้โดยสารท่านนี้จงเป็นสุข ๆ เถิด  ขอให้คุณเดินทางด้วยความปลอดภัย  อย่างนี้ก็ได้ค่ะ”

เมื่อเห็นว่าเธอยังตั้งใจฟังอยู่อย่างตาโตด้วยความสนอกสนใจ  ผู้เขียนจึงให้กำลังใจปิดท้ายว่า

“งานของคุณนี้ดีจังนะคะ  ได้ทำบุญทำกุศลด้วยการช่วยเหลือคนอยู่ตลอดเวลา  ขออนุโมทนาด้วยค่ะ”  แล้วก็ยกมือไหว้อนุโมทนาเธออย่างจริงใจพร้อมรอยยิ้มอีกทีก่อนจะหยิบ boarding pass ขึ้นมาเตรียมเดินกลับออกไป

เจ้าหน้าที่ท่านนั้นรีบยกมือไหว้กลับทันทีด้วยสีหน้าที่สุขใจอย่างเห็นได้ชัด  เธอยิ้มกว้างสดใสแถมยังพนมมือค้างไว้เมื่อผู้เขียนเข็นรถ trolley เดินจากมาอีกด้วย

ประสบการณ์นี้ทำให้มีผู้มีความสุขถึงสองคน  คือเจ้าหน้าที่ท่านนั้น และผู้เขียนเอง

เมื่อนึกย้อนกลับไปผู้เขียนคิดว่าประสบการณ์การพูดคุยแลกเปลี่ยนดี ๆ นี้คงไม่เกิดขึ้นถ้าผู้เขียนไม่ได้ยกมือไหว้ สบตา พร้อมกับยิ้มให้เจ้าหน้าที่ท่านนั้นอย่างจริงใจก่อนตั้งแต่แรก

เธอคงสัมผัสได้แน่นอนว่าผู้เขียนไหว้เธอด้วยความจริงใจจริง ๆ เพราะเห็นคุณค่าของงานที่เธอทำ และเป็นการขอบคุณล่วงหน้าสำหรับความช่วยเหลือที่เธอจะมอบให้ด้วย

พูดง่าย ๆ ก็คือเธอสัมผัสได้นั่นเองว่าผู้เขียน “มาดี” และมอบความเป็นมิตรให้

การไหว้เป็นวัฒนธรรมอันงดงามของไทยที่สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้หลายอย่าง  สร้างความอบอุ่นให้กับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  แต่มีข้อแม้ว่าคุณต้องไหว้อย่างนอบน้อมด้วยความจริงใจจริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงกิริยา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ประสบการณ์ดี ๆ จากการไหว้ผู้ที่จะให้บริการเราก่อน 

ถ้าไม่เชื่อลองไปทำธุรกรรมที่ธนาคารใกล้ ๆ คุณแล้วชิงไหว้เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ด้วยรอยยิ้มก่อนก็ได้  การไหว้ของคุณอาจช่วยพลิกจิตของพนักงานธนาคารที่กำลังเหนื่อยล้าคนหนึ่งให้มีความสุขขึ้นมาได้  ผู้เขียนรับประกันว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารท่านนั้นจะไหว้คุณและยิ้มตอบกลับมาอย่างสดชื่นกว่าปกติทีเดียว

ใครจะรู้  นั่นอาจจะเป็นความประทับใจหนึ่งเดียวที่เธอได้รับจากการทำงานในวันนั้น  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า  ที่ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัยมาทุกวันนี้ได้ก็เพราะคนไทยยัง “ให้” กันอยู่

เรามา “ให้ความรู้สึกดี ๆ” กับผู้อื่นด้วยการไหว้อย่างจริงใจพร้อมรอยยิ้มกัน  ไม่แน่ว่านั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ บางอย่างที่มหัศจรรย์เกินที่คุณจะคาดคิดก็ได้
-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
สนใจฝึกเจริญสติคลิกที่นี่  http://goo.gl/ALKOvv
-------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้าคำว่า dr.nash)
-------------------------------------------------------------------
Credit
ภาพ pantip

Thursday, February 18, 2016

ความหมายดี ๆ ที่ซ่อนไว้



ตรามูลนิธิชัยพัฒนา

ผู้เขียนเข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ซีรี่ส์ “เรื่องดี ๆ จากดร.ณัชร” เรื่องที่ 94

เมื่อวานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับหนังสือเล่มต่อ ๆ ไปของผู้เขียน  และได้รับฟังเรื่องซาบซึ้งใจเกี่ยวกับตราของมูลนิธิฯ จึงขอนำมาฝากท่านผู้อ่านดังนี้

"มูลนิธิชัยพัฒนา" เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานบริหาร

ความหมายของชื่อมูลนิธิ “ชัยพัฒนา”

ทั้งชื่อและตราของมูลนิธิฯ ได้ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง และพระราชทานคำอธิบายว่า

“...การแก้ไขปัญหาใดๆ เปรียบเสมือนการทำสงคราม เพราะว่าปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาความเป็นอยู่ของสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดปัญหาต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไข เหมือนกับการทำสงคราม...”

“...แต่เป็นการทำสงครามที่ไม่ต้องใช้อาวุธ หากใช้ กระบวนการพัฒนาเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไป และผลสุดท้ายเหมือนกับการที่เราได้รับชัยชนะที่เกิดจากการพัฒนา...”

จึงได้พระราชทานชื่อว่า มูลนิธิชัยพัฒนา

ความหมายของตรามูลนิธิ “ชัยพัฒนา”

ดร.สุเมธได้เล่าถึงความหมายของตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาว่า  ประกอบด้วยของสูงทั้ง 4 ประการ คือ

1.  พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสมเด็จพระมหากษัตริย์ไทย  มีความหมายถึง สงครามครั้งนี้คือการที่จะแก้ไขปัญหาของประชาชน พระองค์จะทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เอง

2.  ธงกระบี่ธุช เป็นลักษณะแห่งชัยชนะในการต่อสู้และเป็นธงนำทัพ มีความหมายแฝงว่าทรงต้องการให้พวกเราทุกคนเข้าร่วมในกองทัพเพื่อช่วยพระองค์ด้วย

3.  ดอกบัว หมายถึง ความสงบร่มเย็น ความเจริญงอกงามและความบริบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่นำไปสู่ความอยู่ดีกินดี และความสงบสันติสุขของประชาชนโดยทั่วหน้ากัน  อีกทั้งแฝงความหมายถึงธรรมะด้วย

4.  สังข์ หมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุขและความอุดมสมบูรณ์

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร
cr. ภาพ มูลนิธิชัยพัฒนา
การร่วม “ทัพแห่งการพัฒนา” เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

เมื่อดร.สุเมธได้เมตตาเล่าถึงความหมายของตรามูลนิธิชัยพัฒนานั้น  ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งวูบขึ้นมาทันที  โดยเฉพาะประเด็น “จะทรงนำทัพเอง” และ “ทรงต้องการให้พวกเราทุกคนเข้าร่วมทัพด้วย”

ดร.สุเมธกล่าวว่า  ในเชิงปฏิบัติ  ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเข้ามาช่วยที่มูลนิธิชัยพัฒนา  แต่ทุก ๆ คนล้วนมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาได้ตามบทบาทหน้าที่การงานของตน

พวกเราทุกคนจึงควรถามตนเองว่าเราจะ “ร่วมทัพ” ของพระองค์ท่านด้วยการลงมือทำสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

เพราะการช่วย “พ่อ” พัฒนานั้น จัดได้ว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

พระราชดำรัสที่ประทับใจที่สุด


ผู้เขียนถามดร.สุเมธว่า พระราชดำรัสใดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ท่านประทับใจจำได้ไม่ลืมมากที่สุด  ดร.สุเมธตอบทันทีว่า "พระราชดำรัสแรกที่ตรัสกับผมเมื่อ 36 ปีที่แล้ว  จำได้แม่นยำไม่ลืมเลย"

"ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ ฉันมีแต่ความสุขที่ร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น"

ถ้าพระองค์ตรัสกับพวกเราเช่นนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าคุณผู้อ่านทุกท่านก็คงจำได้แม่นยำไม่ลืมเลือนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดเช่นกัน

มาร่วมกันทำงานพัฒนาถวายพ่อของเรากันค่ะ

ทรงพระเจริญ!
-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
สนใจฝึกเจริญสติคลิกที่นี่  http://goo.gl/ALKOvv
-------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------
Credit
ภาพตรามูลนิธิฯ mykomms


Tuesday, February 16, 2016

9 ข้อคิดพลิกจิตในวิกฤติศรัทธา




สองสามวันนี้มีภาพข่าวที่ชวนให้ชาวพุทธจิตตกปรากฏในสื่อต่าง ๆ มากมาย  ส่งผลให้วิกฤติศรัทธาที่มีอยู่แล้วหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก

มีผู้ถามผู้เขียนว่ามีความเห็นเช่นไรในเหตุการณ์ดังกล่าว  จึงขอตอบคร่าว ๆ ดังนี้

1.  ก่อนอื่นต้องดูว่าพระพุทธองค์ฝากพระธรรมวินัย (คำใช้เรียกพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล) นี้ไว้กับใคร?  ความจริงท่านไม่ได้ทรงฝากไว้แต่กับพระสงฆ์เท่านั้น  แต่ฝากไว้ให้พุทธบริษัททั้งหมดช่วยกันดูแล

2.  คำว่า พุทธบริษัท นั้นแปลตรงตัวว่า ผู้ที่สามารถนั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าได้   บริ แปลว่า รอบ ๆ  ษัท แปลว่า นั่ง 

3.  ดังนั้นในการที่เราจะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาของแท้ไว้ให้ได้เราจึงควรเริ่มต้นสำรวจตนเองก่อนว่า  เรามีคุณธรรมพื้นฐานพอที่จะ “ไปนั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้า” ได้อย่างไม่เก้อเขิน ไม่อายท่านหรือยัง

4.  พุทธบริษัทที่แท้จริงนั้นอย่างน้อย ๆ ต้องถึงพร้อมด้วย ทาน ศีล ภาวนา  อย่างสูงขึ้นมาก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ  เช่น มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอย่างแน่วแน่  ไม่ถือสิ่งอื่นเป็นสรณะ ไม่ว่าจะเป็นเทพจากลัทธินิกายไหน ไม่พึ่งหมอดู ไม่ทรงเจ้าเข้าผี เป็นต้น

5.  ทานที่ทำก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่งมงายหวังไปสวรรค์  ศีลก็ต้องผุดขึ้นมาจากเจตนาที่จะวิรัติเองจากภายใน การภาวนาอย่างน้อยก็ควรจะได้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา

6.  ดังนั้นวิกฤติพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงน่าจะเกิดขึ้นเพราะพุทธบริษัทโดยทั่วไปไม่เข้มแข็งพอ

7.  เมื่อพุทธบริษัทไม่เข้มแข็งพอ  จึงเป็นช่องว่างให้ลัทธินอกรีตต่าง ๆ เติบโตขึ้นมามอมเมาประชาชนได้  เพราะผู้คนแยกแยะไม่ออกระหว่างพระแท้กับพระเทียม   อีกทั้งแยกแยะไม่ออกด้วยว่าคำสอนใดอยู่ในพระธรรมวินัยจริง ๆ  และคำสอนใดไม่ใช่

8.  วิธีแก้วิกฤติจึงต้องเริ่มจากตัวเราเอง  ถ้าทุก ๆ คนในประเทศไทยเป็น “พุทธบริษัท” ตัวจริงที่สามารถไปนั่งล้อมรอบพระพุทธองค์ได้อย่างไม่เก้อเขินแล้วล่ะก็  จะไม่มีที่ว่างให้พระปลอม (บุคคลแต่งกายเลียนแบบพระ) หรืออลัชชี (ผู้เคยบวชแต่ต้องอาบัติขาดจากความเป็นพระไปแล้วแต่ไม่ยอมสึก) มีที่ยืนอย่างแน่นอน

9.  เมื่อประสบวิกฤติอย่าจิตตก  แต่จงอาศัยวิกฤติเป็นโอกาสในการพลิกจิต พัฒนาตนเองให้เป็นพุทธบริษัทที่ถึงพร้อมยิ่ง ๆ ขึ้นไป  สมกับที่พระพุทธองค์ทรงฝากพระธรรมวินัยนี้ไว้

ถ้าบริษัทที่นั่งล้อมรอบพระพุทธองค์เข้มแข็งเหมือนในสมัยพุทธกาล  พวกเดียรถีย์ก็จะทำได้แค่ร้องโหวกเหวกอยู่นอกเขตพระเชตุวันเท่านั้น!
-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
สนใจฝึกเจริญสติคลิกที่นี่  http://goo.gl/ALKOvv 
-------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------
Credit
ภาพ homedec


Monday, February 15, 2016

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก


เมื่อสองวันที่แล้วผู้เขียนได้ไปร่วมงานคืนสู่เหย้านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มา และมีเรื่องประทับใจที่อยากนำมาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังในซีรี่ส์ "เรื่องดี ๆ จากดร.ณัชร" ตอนที่ 92 วันนี้อยู่ 2 เรื่อง  คือ

1.  ประธานจัดงานคืนสู่เหย้าไม่ได้ “จบ” นิเทศศาสตร์!

2.  หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นก็ไม่ได้ “จบ” นิเทศศาสตร์!

แต่ทั้งสองคนเป็นบุคคลสำคัญของงานที่ใคร ๆ ต่างก็ยกย่องชื่นชม

ถ้าอเมริกามีคนอย่างบิล เกตส์ และ สตีฟ จอบส์ ได้

ประเทศไทยก็มีได้เหมือนกัน!

ทุกคนล้วนหวนสู่ถิ่นเก่าอย่างสมศักดิ์ศรี....แม้ไม่มีใบปริญญา!

ประธานจัดงาน “มนต์รักลูกทุ่งนิเทศ” คือ คุณยุทธนา บุญอ้อม (รุ่น 22) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ป๋าเต็ด”  เขาเป็น “ผู้ให้” ความบันเทิงแก่สังคมในรูปแบบการจัดงานดนตรีและรายการวิทยุ  และได้ชื่อว่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับหลายวงการ

นิตยสาร Positioning กล่าวไว้ว่า ป๋าเต็ดเป็นชื่อที่วัยรุ่นแทบทุกคนรู้จัก หากมีการกล่าวอ้างถึงพฤติกรรมวัยรุ่นโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเพลงคนจะนึกถึงเขา เขาสร้างจุดยืนที่แตกต่างด้วยแนวคิดแบบ อินดี้และเป็นแกนนำสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในหมู่วัยรุ่นมากมาย

หนึ่งในศิษย์เก่าดีเด่นคือ พี่จุ้ย คุณศุ บุญเลี้ยง (รุ่น 16)  เป็น “ผู้ให้” ความสุขแก่สังคมไทยมาช้านาน

วิกิพีเดียสรุปประวัติพี่จุ้ยไว้ว่า “...เป็นศิลปิน นักเขียน เจ้าของธุรกิจร้านอิ่มอุ่น เป็นที่รู้จักจากการเป็นสมาชิกวงเฉลียง กลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดีที่สร้างตำนานของประเทศไทย หลังจากแยกตัวออกจากวงเฉลียงยังคงมีผลงานเพลงเดี่ยวออกมาหลายผลงาน งานเขียนในชื่อตัวเองและนามปากกา สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก...

ปริญญา ไม่ได้การันตีความสำเร็จ 

สิ่งที่คุณลงมือสร้างขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอต่างหาก คือตัวชี้วัด

พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า “ททมาโน ปิโย โหติ  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก”

พวกเขาเป็นผู้ให้แก่สังคม และเป็นผู้ให้แก่สถาบันที่ตนเองได้เคยร่ำเรียนเสมอมา

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นที่รัก

เสียงปรบมือโห่ร้องกึกก้องในวันงานเป็นดั่งตราประทับ
รับประกันว่าพวกเขาทั้งสองจะอยู่ในความทรงจำของชาวนิเทศศาสตร์ไปตราบนานเท่านาน

ขอแสดงความยินดีด้วย!

จากแฟนคลับรุ่น 21
-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
สนใจฝึกเจริญสติคลิกที่นี่  http://goo.gl/ALKOvv 
-------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------
Credit
ภาพ mthai และ manager

Sunday, February 14, 2016

ความพอเพียงนำความสุขมาให้อย่างไร


สัปดาห์ที่แล้วมีคุณผู้อ่านส่งคำถามเข้ามาว่า

“...สวัสดีค่ะ ดร ณัชร...จะขอเรียนถามว่าคำว่า พอเพียง กับคำว่า ขี้เกียจ (ไม่กระตือรือร้น)....มีความหมายต่างกันอย่างไรคะ?...”

ผู้เขียนเองก็เคยได้ยินคำถามนี้มาก่อน  ซ้ำร้ายคือเคยอ่านเจอว่ามีผู้กล่าวโจมตีหลักเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างเสีย ๆ หาย ๆ อีกด้วย  จึงขออนุญาตนำคำถามนี้มาตอบในซีรีส์ “เรื่องดี ๆ จาก ดร.ณัชร” ตอนที่ 91 นี้เพื่อเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปพร้อม ๆ กัน

ที่มาของคำว่า “พอเพียง”

คำว่า พอเพียง นั้น มีที่มาจากหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “สันโดษ”  ท่านพุทธทาสได้ตอบคำถามนี้เอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2525 ราวกับมองเห็นล่วงหน้าถึงความเป็นไปของประเทศไทยในอนาคต

ธรรมบรรยายดังกล่าวมีชื่อว่า “สันโดษไม่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนา”   ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ “สันโดษเป็นทรัพย์ยิ่ง”  ซึ่งผู้เขียนขอสรุปมาโดยสังเขปดังนี้

รวยแล้วยิ่งโกง เพราะไม่สันโดษ

“...เรื่องสันโดษนี้รัฐบาลยุคหนึ่งถึงกับห้ามไม่ให้พระเทศน์ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่ก้าวหน้า ไม่ทะเยอทะยานที่จะทำกิจการงานให้ใหญ่โตไพศาลออกไป  รัฐบาลนั้นยังไม่ทราบว่า คอร์รัปชั่นทั้งหลายนั่นน่ะเกิดมาจากการไม่สันโดษ  รวยแล้วยังโกง นี่เพราะว่าเขาไม่สันโดษ...”

นิยามของคำว่า สันโดษ หรือ พอเพียง

“...”สันโดษ” แปลว่า ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่  คนมักไปเติมเอาว่าไม่ขวนขวาย นี่เป็นความเข้าใจผิด ไม่ถูกต้องตามพุทธประสงค์  แต่หมายความว่าสิ่งที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องพอใจ ต้องยินดี  ถ้าเราไม่ยินดีอะไรเสียเลย ได้มาเท่าไร อย่างไร ก็ไม่ยินดี...”

“...เช่น มีความเจ็บปวดอะไรเกิดขึ้นเราก็ควรจะพอใจที่ไม่ถึงกับตาย  กินข้าวกับเกลือก็ดีกว่าไม่มีอะไรกินเสียเลย  พอใจแล้วมันก็อร่อยได้  มันอยู่ที่ความพอใจ...”

สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

“...ทีนี้ ถ้าเราทำอะไรที่มีอยู่รอบตัวเราทั้งหมดนี้ ให้เป็นที่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็สบาย มันก็ร่ำรวย ดังพระบาลีว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ  ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง...”

“...คนขอทาน เสื้อขาด กางเกงขาด มีห้าสตางค์ สิบสตางค์ ถ้ายังพอใจว่าที่มีอยู่ก็นับว่าเป็นประโยชน์เขาจะกลายเป็นคนรวยทันที แต่คนรวยมีอะไรเต็มบ้านแล้วยังไม่พอใจก็ยิ่งเป็นคนจนยิ่งกว่าขอทาน...”

สันโดษจะทำให้พัฒนา ขยัน กระตือรือร้น ขวนขวาย

ถึงตรงนี้อยากจะตอบคุณผู้อ่านว่า  คำว่า พอเพียง หรือว่า สันโดษ นั้น มีความหมายตรงกันข้ามกับความขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้นเลยทีเดียว  เพราะจะทำให้ยิ่งขยันและขวนขวายยิ่งขึ้นไปอีก!  ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า

“...สันโดษนั่นแหละจะทำให้พัฒนา คือ ยินดีตามที่ได้มาแล้ว ก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะทำให้มากขึ้นไป  เพราะฉะนั้นสันโดษจึงเป็นรากฐานของการพัฒนา ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะพัฒนาไปทำไม...”

“...เมื่อมีความสันโดษแล้วจะพัฒนาสนุก มันเป็นสุขไปพลาง ทำงานไปพลาง รวยไปพลาง หาเพิ่มไปพลาง ...ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักอิ่มในสิ่งที่ตนกระทำ มันก็จะบ้ากันหมดทั้งโลกแหละ นี่กล้าพูดอย่างนี้เลย!...

สันโดษพัฒนาไปได้สูงสุดถึงขั้นโลกุตตระ

“...ในขั้นที่บรรลุมรรคผลนั้น จะมีความรู้สึกสันโดษ พอใจในความสิ้นอาสวะนั้นขึ้นมาได้ในตัวมันเองโดยไม่ต้องเจตนา โดยไม่ต้องอยาก  เพราะจิตมันหลุดพ้น ทรงตัวอยู่ได้เป็นอิสระ ไม่มีกิเลสหรือความทุกข์อะไรเบียดเบียน มันจึงสันโดษ – ยินดีในสภาวะเช่นนั้นที่มีอยู่...”

“...นี่พูดเลยว่าสันโดษเป็นไปเพื่อพัฒนา พัฒนาจนขั้นสุดท้าย ภาวะสุดท้ายคือความเป็นอิสระ ดับทุกข์ ดับกิเลสโดยสิ้นเชิง  ตอนนั้นรวยใหญ่ เป็นมหาเศรษฐี เมื่อสิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์...”

“...นี่คิดดูเถอะ จบด้วยสันโดษนะชีวิตนี้  ซึ่งก็คือจบลงด้วยความเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ...”

ต้องนำไปปฏิบัติ จึงเข้าใจ

หลักธรรมเรื่องความสันโดษ หรือ พอเพียง นี้ ก็เหมือนกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ตรงที่ว่าต้อง “นำไปปฏิบัติ” ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัยแล้วจึงจะ “เข้าใจ” ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ดังนั้นถ้ามีผู้มาชวนเราถกเถียงเรื่องความพอเพียงหรือสันโดษนี้อย่างหน้าดำหน้าแดงในเชิงทฤษฎีอย่างเดียวโดยเจ้าตัวเองไม่ยอมทดลองนำไปปฏิบัติก่อนจนเห็นผลประจักษ์แก่ใจแล้วไซร้  บางทีทางออกที่ดีที่สุดก็คือควรหยุดการสนทนา!

ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านมีความยินดีพอใจในทุกสิ่งที่ตนเองมี อันจะเป็นกำลังใจให้ทุกท่านมุ่งมั่นขวนขวายพัฒนาตนเองยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคตโดยทั่วกัน _/\_
-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
สนใจฝึกเจริญสติคลิกที่นี่  http://goo.gl/ALKOvv 
-------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------
Credit
ภาพ สมาชิกหมายเลข 852907 pantip

Sunday, February 7, 2016

การฝึกสติช่วยพัฒนา EQ ได้

Credit ภาพ dailybackgrounds

คุณ
ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า EQ (Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์กันมาบ้างแล้ว 

สัปดาห์หน้าผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “สติกับการพัฒนา EQ   เลยคิดว่าจะนำเรื่องนี้มาฝากคุณผู้อ่านด้วย

=EQ มีประโยชน์อย่างไร?=

Daniel Goleman นักจิตวิทยาชื่อดังได้สรุปไว้ในหนังสือชื่อ Emotional Intelligence (1995) ว่า EQ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและเติมเต็ม

ที่น่าสนใจก็คือเขาบอกว่า EQ เป็นสิ่งที่สามารถใช้พยากรณ์ความสำเร็จในด้านการเรียน การทำงาน และความสำเร็จในชีวิตโดยรวมได้ดีกว่า IQ ถึง 4 เท่า!

และที่สำคัญที่สุด Goleman กล่าวว่า EQ เป็นสิ่งที่สามารถฝึกกันได้!

แต่จะฝึกอย่างไรล่ะ?  ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่า สภาวะที่เรียกว่า EQ นั้นเป็นอย่างไร

=EQ คืออะไร?=

EQ หรือบางทีก็เรียกว่า EI (Emotional Intelligence) คือ  ความสามารถของบุคคลที่จะ

1) ตระหนักรู้ในความคิด ความรู้สึก และภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่นได้
2) ควบคุมอารมณ์ของตน
3) เข้าใจความคิดและมีพฤติกรรมที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับการทำงาน และการดำเนินชีวิต
4)  มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น ๆ

ในมุมมองของผู้เขียน  ข้อ 1 นั้นเกิดขึ้นได้จากการ “ฝึกเจริญสติ” ให้รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะแต่ทางใจ แต่รวมถึงทางกายด้วย ซึ่งนับว่าลึกซึ้งกว่าเพราะความจริงแล้วกายกับใจนั้นเกี่ยวโยงกันอยู่

ส่วนข้อ 2-4 นั้นก็คือ “ผลของการนำการเจริญสติมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง” นั่นเอง!

=การเจริญสติช่วยพัฒนา EQ ได้อย่างไร?=

การเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ การฝึก “ความตระหนักรู้” ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจของเราใน “ปัจจุบันขณะ”

เมื่อเรา “รู้เท่าทัน” อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีแล้ว  เราก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะ “ควบคุมอารมณ์ตนเองได้” เป็นธรรมดา  มาดูตัวอย่างกัน

=การรู้เท่าทันและควบคุมอารมณ์โกรธ=

ก่อนฝึกสติเราอาจจจะได้ยินคนพูดอะไรไม่ดีใส่แล้วโกรธปรี๊ดขึ้นทันที  แต่ถ้าฝึกสติเป็นประจำแล้วเราจะรู้เท่าทันกระบวนการที่จะนำไปสู่ความโกรธนั้นตั้งแต่ “(ได้)ยินหนอ” --> “คิดหนอ” --> “โกรธหนอ” 

ถ้าสติคมชัดจริง ๆ เราจะสามารถกำหนดรู้แล้วปล่อยวางให้ดับไปได้ตั้งแต่ “ยินหนอ” คือจะไม่เข้าไปปรุงแต่งเป็นความคิดความรู้สึกว่าชอบหรือชัง  สักแต่ว่าได้ยินเสียงดังขึ้นแล้วก็ดับลงไป  จบอยู่ตรงนั้น ใจไม่กระเพื่อม

แต่ต่อให้เสียงพูดที่ได้ยินมันไหลเข้าไปในใจจนโกรธขึ้นมาแล้ว  การกำหนดว่า “โกรธหนอ ๆ ๆ” ก็คือการเข้าไปรู้เท่าทันว่า “อาการโกรธได้เกิดขึ้นและดับไปทีละขณะจิตแล้วล่ะหนอ”  ใจที่รับรู้อาการ “เกิด-ดับ” ของความโกรธได้ตามความเป็นจริงจะปล่อยวางได้เร็วขึ้นกว่าใจที่ไม่เคยฝึกสติ

หมายความว่า คนที่เคยโกรธหนักโกรธนานก็จะหายเร็วขึ้น  และดีกรีความโกรธก็จะเบาบางลงนั่นเอง

=เก้าอี้ดนตรี= 

ใจมนุษย์นั้นรับรู้ได้เพียงทีละ 1 อย่าง  เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรีที่มีเก้าอี้อยู่ตัวเดียวแล้วมีสติกับความโลภ โกรธ หลงผลัดกันชิงเข้าไปนั่ง 

ตราบใดที่เราส่ง “สติ” เข้าไป “ชิงแท่นจิต” คือ นั่งเก้าอี้ได้ทันก่อน  กิเลสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภ โกรธ หลง ก็เข้าแทรกไม่ได้

ฟังเหมือนจะง่าย  แต่กว่าจะฝึกให้พอทำได้และสามารถนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างได้ผลระดับหนึ่งนั้นต้องอาศัยการฝึกต่อเนื่องในครั้งแรกถึง 7 คืน 8 วัน

=แบบสอบถามเพื่อประเมิน EQ ตนเอง=

คลิก ที่นี่  เพื่อทำแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์  ที่ได้รับการรับรองโดยกรมสุขภาพจิต

ถ้าผลออกมาดีผู้เขียนก็ขออนุโมทนาด้วย  แต่ถ้ายังไม่พอใจผลที่ออกมานักก็ลองวางแผนไปฝึกการเจริญสติปัฏฐาน 4 กับครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญดู  ถ้ายังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนดีก็มากับผู้เขียนได้ ที่นี่

พระพุทธองค์เองตรัสรับรองว่าการเจริญสติเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ปัญญาขั้นสูงสุดและการดับทุกข์ทั้งปวง ทั้งทางกาย และทางใจ ได้อย่างสิ้นเชิง

อย่าว่าแต่ EQ เลย  แม้แต่พระนิพพานก็ยังไปถึงได้!

-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------