Sunday, February 14, 2016

ความพอเพียงนำความสุขมาให้อย่างไร


สัปดาห์ที่แล้วมีคุณผู้อ่านส่งคำถามเข้ามาว่า

“...สวัสดีค่ะ ดร ณัชร...จะขอเรียนถามว่าคำว่า พอเพียง กับคำว่า ขี้เกียจ (ไม่กระตือรือร้น)....มีความหมายต่างกันอย่างไรคะ?...”

ผู้เขียนเองก็เคยได้ยินคำถามนี้มาก่อน  ซ้ำร้ายคือเคยอ่านเจอว่ามีผู้กล่าวโจมตีหลักเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างเสีย ๆ หาย ๆ อีกด้วย  จึงขออนุญาตนำคำถามนี้มาตอบในซีรีส์ “เรื่องดี ๆ จาก ดร.ณัชร” ตอนที่ 91 นี้เพื่อเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปพร้อม ๆ กัน

ที่มาของคำว่า “พอเพียง”

คำว่า พอเพียง นั้น มีที่มาจากหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “สันโดษ”  ท่านพุทธทาสได้ตอบคำถามนี้เอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2525 ราวกับมองเห็นล่วงหน้าถึงความเป็นไปของประเทศไทยในอนาคต

ธรรมบรรยายดังกล่าวมีชื่อว่า “สันโดษไม่เป็นอุปสรรคแก่การพัฒนา”   ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ “สันโดษเป็นทรัพย์ยิ่ง”  ซึ่งผู้เขียนขอสรุปมาโดยสังเขปดังนี้

รวยแล้วยิ่งโกง เพราะไม่สันโดษ

“...เรื่องสันโดษนี้รัฐบาลยุคหนึ่งถึงกับห้ามไม่ให้พระเทศน์ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่ก้าวหน้า ไม่ทะเยอทะยานที่จะทำกิจการงานให้ใหญ่โตไพศาลออกไป  รัฐบาลนั้นยังไม่ทราบว่า คอร์รัปชั่นทั้งหลายนั่นน่ะเกิดมาจากการไม่สันโดษ  รวยแล้วยังโกง นี่เพราะว่าเขาไม่สันโดษ...”

นิยามของคำว่า สันโดษ หรือ พอเพียง

“...”สันโดษ” แปลว่า ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่  คนมักไปเติมเอาว่าไม่ขวนขวาย นี่เป็นความเข้าใจผิด ไม่ถูกต้องตามพุทธประสงค์  แต่หมายความว่าสิ่งที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องพอใจ ต้องยินดี  ถ้าเราไม่ยินดีอะไรเสียเลย ได้มาเท่าไร อย่างไร ก็ไม่ยินดี...”

“...เช่น มีความเจ็บปวดอะไรเกิดขึ้นเราก็ควรจะพอใจที่ไม่ถึงกับตาย  กินข้าวกับเกลือก็ดีกว่าไม่มีอะไรกินเสียเลย  พอใจแล้วมันก็อร่อยได้  มันอยู่ที่ความพอใจ...”

สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

“...ทีนี้ ถ้าเราทำอะไรที่มีอยู่รอบตัวเราทั้งหมดนี้ ให้เป็นที่พอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็สบาย มันก็ร่ำรวย ดังพระบาลีว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ  ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง...”

“...คนขอทาน เสื้อขาด กางเกงขาด มีห้าสตางค์ สิบสตางค์ ถ้ายังพอใจว่าที่มีอยู่ก็นับว่าเป็นประโยชน์เขาจะกลายเป็นคนรวยทันที แต่คนรวยมีอะไรเต็มบ้านแล้วยังไม่พอใจก็ยิ่งเป็นคนจนยิ่งกว่าขอทาน...”

สันโดษจะทำให้พัฒนา ขยัน กระตือรือร้น ขวนขวาย

ถึงตรงนี้อยากจะตอบคุณผู้อ่านว่า  คำว่า พอเพียง หรือว่า สันโดษ นั้น มีความหมายตรงกันข้ามกับความขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้นเลยทีเดียว  เพราะจะทำให้ยิ่งขยันและขวนขวายยิ่งขึ้นไปอีก!  ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า

“...สันโดษนั่นแหละจะทำให้พัฒนา คือ ยินดีตามที่ได้มาแล้ว ก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะทำให้มากขึ้นไป  เพราะฉะนั้นสันโดษจึงเป็นรากฐานของการพัฒนา ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะพัฒนาไปทำไม...”

“...เมื่อมีความสันโดษแล้วจะพัฒนาสนุก มันเป็นสุขไปพลาง ทำงานไปพลาง รวยไปพลาง หาเพิ่มไปพลาง ...ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักอิ่มในสิ่งที่ตนกระทำ มันก็จะบ้ากันหมดทั้งโลกแหละ นี่กล้าพูดอย่างนี้เลย!...

สันโดษพัฒนาไปได้สูงสุดถึงขั้นโลกุตตระ

“...ในขั้นที่บรรลุมรรคผลนั้น จะมีความรู้สึกสันโดษ พอใจในความสิ้นอาสวะนั้นขึ้นมาได้ในตัวมันเองโดยไม่ต้องเจตนา โดยไม่ต้องอยาก  เพราะจิตมันหลุดพ้น ทรงตัวอยู่ได้เป็นอิสระ ไม่มีกิเลสหรือความทุกข์อะไรเบียดเบียน มันจึงสันโดษ – ยินดีในสภาวะเช่นนั้นที่มีอยู่...”

“...นี่พูดเลยว่าสันโดษเป็นไปเพื่อพัฒนา พัฒนาจนขั้นสุดท้าย ภาวะสุดท้ายคือความเป็นอิสระ ดับทุกข์ ดับกิเลสโดยสิ้นเชิง  ตอนนั้นรวยใหญ่ เป็นมหาเศรษฐี เมื่อสิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์...”

“...นี่คิดดูเถอะ จบด้วยสันโดษนะชีวิตนี้  ซึ่งก็คือจบลงด้วยความเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ...”

ต้องนำไปปฏิบัติ จึงเข้าใจ

หลักธรรมเรื่องความสันโดษ หรือ พอเพียง นี้ ก็เหมือนกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ตรงที่ว่าต้อง “นำไปปฏิบัติ” ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัยแล้วจึงจะ “เข้าใจ” ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ดังนั้นถ้ามีผู้มาชวนเราถกเถียงเรื่องความพอเพียงหรือสันโดษนี้อย่างหน้าดำหน้าแดงในเชิงทฤษฎีอย่างเดียวโดยเจ้าตัวเองไม่ยอมทดลองนำไปปฏิบัติก่อนจนเห็นผลประจักษ์แก่ใจแล้วไซร้  บางทีทางออกที่ดีที่สุดก็คือควรหยุดการสนทนา!

ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านมีความยินดีพอใจในทุกสิ่งที่ตนเองมี อันจะเป็นกำลังใจให้ทุกท่านมุ่งมั่นขวนขวายพัฒนาตนเองยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคตโดยทั่วกัน _/\_
-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
สนใจฝึกเจริญสติคลิกที่นี่  http://goo.gl/ALKOvv 
-------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------
Credit
ภาพ สมาชิกหมายเลข 852907 pantip

No comments:

Post a Comment