Thursday, February 18, 2016

ความหมายดี ๆ ที่ซ่อนไว้



ตรามูลนิธิชัยพัฒนา

ผู้เขียนเข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ซีรี่ส์ “เรื่องดี ๆ จากดร.ณัชร” เรื่องที่ 94

เมื่อวานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับหนังสือเล่มต่อ ๆ ไปของผู้เขียน  และได้รับฟังเรื่องซาบซึ้งใจเกี่ยวกับตราของมูลนิธิฯ จึงขอนำมาฝากท่านผู้อ่านดังนี้

"มูลนิธิชัยพัฒนา" เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานบริหาร

ความหมายของชื่อมูลนิธิ “ชัยพัฒนา”

ทั้งชื่อและตราของมูลนิธิฯ ได้ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง และพระราชทานคำอธิบายว่า

“...การแก้ไขปัญหาใดๆ เปรียบเสมือนการทำสงคราม เพราะว่าปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาความเป็นอยู่ของสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดปัญหาต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไข เหมือนกับการทำสงคราม...”

“...แต่เป็นการทำสงครามที่ไม่ต้องใช้อาวุธ หากใช้ กระบวนการพัฒนาเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นไป และผลสุดท้ายเหมือนกับการที่เราได้รับชัยชนะที่เกิดจากการพัฒนา...”

จึงได้พระราชทานชื่อว่า มูลนิธิชัยพัฒนา

ความหมายของตรามูลนิธิ “ชัยพัฒนา”

ดร.สุเมธได้เล่าถึงความหมายของตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาว่า  ประกอบด้วยของสูงทั้ง 4 ประการ คือ

1.  พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสมเด็จพระมหากษัตริย์ไทย  มีความหมายถึง สงครามครั้งนี้คือการที่จะแก้ไขปัญหาของประชาชน พระองค์จะทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เอง

2.  ธงกระบี่ธุช เป็นลักษณะแห่งชัยชนะในการต่อสู้และเป็นธงนำทัพ มีความหมายแฝงว่าทรงต้องการให้พวกเราทุกคนเข้าร่วมในกองทัพเพื่อช่วยพระองค์ด้วย

3.  ดอกบัว หมายถึง ความสงบร่มเย็น ความเจริญงอกงามและความบริบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่นำไปสู่ความอยู่ดีกินดี และความสงบสันติสุขของประชาชนโดยทั่วหน้ากัน  อีกทั้งแฝงความหมายถึงธรรมะด้วย

4.  สังข์ หมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุขและความอุดมสมบูรณ์

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร
cr. ภาพ มูลนิธิชัยพัฒนา
การร่วม “ทัพแห่งการพัฒนา” เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

เมื่อดร.สุเมธได้เมตตาเล่าถึงความหมายของตรามูลนิธิชัยพัฒนานั้น  ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งวูบขึ้นมาทันที  โดยเฉพาะประเด็น “จะทรงนำทัพเอง” และ “ทรงต้องการให้พวกเราทุกคนเข้าร่วมทัพด้วย”

ดร.สุเมธกล่าวว่า  ในเชิงปฏิบัติ  ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเข้ามาช่วยที่มูลนิธิชัยพัฒนา  แต่ทุก ๆ คนล้วนมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาได้ตามบทบาทหน้าที่การงานของตน

พวกเราทุกคนจึงควรถามตนเองว่าเราจะ “ร่วมทัพ” ของพระองค์ท่านด้วยการลงมือทำสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

เพราะการช่วย “พ่อ” พัฒนานั้น จัดได้ว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

พระราชดำรัสที่ประทับใจที่สุด


ผู้เขียนถามดร.สุเมธว่า พระราชดำรัสใดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ท่านประทับใจจำได้ไม่ลืมมากที่สุด  ดร.สุเมธตอบทันทีว่า "พระราชดำรัสแรกที่ตรัสกับผมเมื่อ 36 ปีที่แล้ว  จำได้แม่นยำไม่ลืมเลย"

"ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ ฉันมีแต่ความสุขที่ร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น"

ถ้าพระองค์ตรัสกับพวกเราเช่นนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าคุณผู้อ่านทุกท่านก็คงจำได้แม่นยำไม่ลืมเลือนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดเช่นกัน

มาร่วมกันทำงานพัฒนาถวายพ่อของเรากันค่ะ

ทรงพระเจริญ!
-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
สนใจฝึกเจริญสติคลิกที่นี่  http://goo.gl/ALKOvv
-------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------
Credit
ภาพตรามูลนิธิฯ mykomms


2 comments:

  1. ไม่เคยทราบมาก่อนเลยค่ะ ขอบคุณค่ะที่นำเสนอเรื่องดี ๆ

    ReplyDelete
  2. ยินดีค่ะ คุณ Angkana ^_^

    ReplyDelete