Sunday, February 7, 2016

การฝึกสติช่วยพัฒนา EQ ได้

Credit ภาพ dailybackgrounds

คุณ
ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า EQ (Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์กันมาบ้างแล้ว 

สัปดาห์หน้าผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “สติกับการพัฒนา EQ   เลยคิดว่าจะนำเรื่องนี้มาฝากคุณผู้อ่านด้วย

=EQ มีประโยชน์อย่างไร?=

Daniel Goleman นักจิตวิทยาชื่อดังได้สรุปไว้ในหนังสือชื่อ Emotional Intelligence (1995) ว่า EQ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและเติมเต็ม

ที่น่าสนใจก็คือเขาบอกว่า EQ เป็นสิ่งที่สามารถใช้พยากรณ์ความสำเร็จในด้านการเรียน การทำงาน และความสำเร็จในชีวิตโดยรวมได้ดีกว่า IQ ถึง 4 เท่า!

และที่สำคัญที่สุด Goleman กล่าวว่า EQ เป็นสิ่งที่สามารถฝึกกันได้!

แต่จะฝึกอย่างไรล่ะ?  ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่า สภาวะที่เรียกว่า EQ นั้นเป็นอย่างไร

=EQ คืออะไร?=

EQ หรือบางทีก็เรียกว่า EI (Emotional Intelligence) คือ  ความสามารถของบุคคลที่จะ

1) ตระหนักรู้ในความคิด ความรู้สึก และภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่นได้
2) ควบคุมอารมณ์ของตน
3) เข้าใจความคิดและมีพฤติกรรมที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับการทำงาน และการดำเนินชีวิต
4)  มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น ๆ

ในมุมมองของผู้เขียน  ข้อ 1 นั้นเกิดขึ้นได้จากการ “ฝึกเจริญสติ” ให้รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะแต่ทางใจ แต่รวมถึงทางกายด้วย ซึ่งนับว่าลึกซึ้งกว่าเพราะความจริงแล้วกายกับใจนั้นเกี่ยวโยงกันอยู่

ส่วนข้อ 2-4 นั้นก็คือ “ผลของการนำการเจริญสติมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง” นั่นเอง!

=การเจริญสติช่วยพัฒนา EQ ได้อย่างไร?=

การเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ การฝึก “ความตระหนักรู้” ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจของเราใน “ปัจจุบันขณะ”

เมื่อเรา “รู้เท่าทัน” อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีแล้ว  เราก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะ “ควบคุมอารมณ์ตนเองได้” เป็นธรรมดา  มาดูตัวอย่างกัน

=การรู้เท่าทันและควบคุมอารมณ์โกรธ=

ก่อนฝึกสติเราอาจจจะได้ยินคนพูดอะไรไม่ดีใส่แล้วโกรธปรี๊ดขึ้นทันที  แต่ถ้าฝึกสติเป็นประจำแล้วเราจะรู้เท่าทันกระบวนการที่จะนำไปสู่ความโกรธนั้นตั้งแต่ “(ได้)ยินหนอ” --> “คิดหนอ” --> “โกรธหนอ” 

ถ้าสติคมชัดจริง ๆ เราจะสามารถกำหนดรู้แล้วปล่อยวางให้ดับไปได้ตั้งแต่ “ยินหนอ” คือจะไม่เข้าไปปรุงแต่งเป็นความคิดความรู้สึกว่าชอบหรือชัง  สักแต่ว่าได้ยินเสียงดังขึ้นแล้วก็ดับลงไป  จบอยู่ตรงนั้น ใจไม่กระเพื่อม

แต่ต่อให้เสียงพูดที่ได้ยินมันไหลเข้าไปในใจจนโกรธขึ้นมาแล้ว  การกำหนดว่า “โกรธหนอ ๆ ๆ” ก็คือการเข้าไปรู้เท่าทันว่า “อาการโกรธได้เกิดขึ้นและดับไปทีละขณะจิตแล้วล่ะหนอ”  ใจที่รับรู้อาการ “เกิด-ดับ” ของความโกรธได้ตามความเป็นจริงจะปล่อยวางได้เร็วขึ้นกว่าใจที่ไม่เคยฝึกสติ

หมายความว่า คนที่เคยโกรธหนักโกรธนานก็จะหายเร็วขึ้น  และดีกรีความโกรธก็จะเบาบางลงนั่นเอง

=เก้าอี้ดนตรี= 

ใจมนุษย์นั้นรับรู้ได้เพียงทีละ 1 อย่าง  เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรีที่มีเก้าอี้อยู่ตัวเดียวแล้วมีสติกับความโลภ โกรธ หลงผลัดกันชิงเข้าไปนั่ง 

ตราบใดที่เราส่ง “สติ” เข้าไป “ชิงแท่นจิต” คือ นั่งเก้าอี้ได้ทันก่อน  กิเลสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภ โกรธ หลง ก็เข้าแทรกไม่ได้

ฟังเหมือนจะง่าย  แต่กว่าจะฝึกให้พอทำได้และสามารถนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างได้ผลระดับหนึ่งนั้นต้องอาศัยการฝึกต่อเนื่องในครั้งแรกถึง 7 คืน 8 วัน

=แบบสอบถามเพื่อประเมิน EQ ตนเอง=

คลิก ที่นี่  เพื่อทำแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์  ที่ได้รับการรับรองโดยกรมสุขภาพจิต

ถ้าผลออกมาดีผู้เขียนก็ขออนุโมทนาด้วย  แต่ถ้ายังไม่พอใจผลที่ออกมานักก็ลองวางแผนไปฝึกการเจริญสติปัฏฐาน 4 กับครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญดู  ถ้ายังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนดีก็มากับผู้เขียนได้ ที่นี่

พระพุทธองค์เองตรัสรับรองว่าการเจริญสติเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ปัญญาขั้นสูงสุดและการดับทุกข์ทั้งปวง ทั้งทางกาย และทางใจ ได้อย่างสิ้นเชิง

อย่าว่าแต่ EQ เลย  แม้แต่พระนิพพานก็ยังไปถึงได้!

-------------------------------------------------------------------
เชิญสนับสนุนหนังสือ “ออกกำลังใจ” ของดร.ณัชรได้ที่นี่ http://goo.gl/V2NIMn
-------------------------------------------------------------------
ต้องการสั่งซื้อหนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ “Zenwise” คลิกที่นี่ http://goo.gl/forms/OxlEn9xb0R
------------------------------------------------------------------
เพื่อไม่ให้พลาดโพสต์ดี ๆ จากทางเพจ

1. ใส่อีเมล์ของท่านในช่อง “Follow by Email รับการแจ้งโพสต์ใหม่ในอีเมล์ของคุณในช่องท้ายบทความและกด “submit”

2. สำหรับ Facebook กรุณากด Get Notification (“รับการแจ้งเตือน”) ใต้ปุ่ม Like (“ถูกใจ”) ที่หน้าเพจ “ดร ณัชร” ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

3.  Add LINE ID @dr.nash (ต้องมีเครื่องหมาย @ นำหน้า)
-------------------------------------------------------------------

No comments:

Post a Comment